วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทีดีอาร์ไอ


คำนำ
สังคมส่วนใหญ่เกือบทุกสังคมในโลก ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม และนับถือศาสนาใด ไม่ว่าจะยังด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมหรือพัฒนาแล้วก็ตาม ต่างมีความต้องการในการรับทราบข่าวสาร และต่างต้องพึ่งพาอาศัยข้อมูลสารสนเทศในการดำรงชีวิตประจำวันมากขึ้นๆ ทุกวัน สังคมไทยก็ไม่ยกเว้นเช่นกัน
ยิ่งกว่านั้นสังคมไทยยังเป็นสังคม เปิดที่ประชาชนมีความสนใจและมีการบริโภคข่าวสารในอัตราสูง และในปัจจุบันสื่อสารมวลชนก็ยังมีเสรีภาพที่ค่อนข้างจะเต็มเปี่ยม เมื่อเทียบกับอีกหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงกับไทย ที่จัดว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่สังคมเปิดของไทยจะยังสมบูรณ์เต็มที่ไม่ได้ หากกลไกของรัฐ ยังไม่สามารถจะขจัดอุปสรรคที่ยังมีเหลืออยู่ให้หมดสิ้นไป เพื่อให้มีการเผยแพร่ข้อมูลทั่วไปของราชการแก่สาธารณชนได้อย่างเปิดเผยและเสรีเต็มที่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ความต้องการในข่าวสารข้อมูลของสังคมไทย มีรากเหง้ามาเป็นเวลาช้านาน แต่กระแสความตื่นตัวดูเหมือนจะมีความเด่นชัดและรุนแรงที่สุดในช่วงพฤษภาทมิฬ ทั้งนี้เบื้องหลังความตื่นตัวในความต้องการ และความสำเร็จของการตอบสนองที่นำไปสู่การรับและแพร่กระจายของข่าวสารข้อมูลอย่างฉับพลันและกว้างไกล ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเสียง รูป ข้อความ และภาพเคลื่อนที่ ดังเช่นในขณะนี้คงเป็นไปมิได้ หากมิใช่เพราะวิวัฒนาการของเทคโนโลยีกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology หรือ IT)
สารสนเทศและสังคมสารสนเทศในศตวรรษที่ 21
สารสนเทศ (information) ในที่นี้จะมีความหมายครอบคลุมตั้งแต่ข่าวสาร (news) ข้อมูล (data) สารสนเทศซึ่งเป็นข่าวสารข้อมูลที่มีการวิเคราะห์ ประมวล หรือแปรรูปแล้ว ไปจนถึงวิชาความรู้ (knowledge) ซึ่งคือข้อเท็จจริงที่มีการค้นคว้าได้หลักฐานหรือเหตุผลชัดเจน และจัดเข้าเป็นระเบียบแล้ว
สารสนเทศได้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานปัจจัยที่ห้า เพิ่มจากปัจจัยสี่ประการที่มนุษย์เราขาดเสียมิได้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสารสนเทศที่จำเป็น ในการประกอบธุรกิจ ในการค้าขาย การผลิตสินค้า และบริการ หรือการให้บริการสังคม การจัดการทรัพยากรของชาติ การบริหารและปกครอง จนถึงเรื่องเบา ๆ เรื่องไร้สาระบ้าง เช่น สภากาแฟที่สามารถพบได้ทุกแห่งหนในสังคม เรื่องสาระบันเทิงในยามพักผ่อน ไปจนถึงเรื่องความเป็นความตาย เช่น ข่าวอุทกภัย วาตภัย หรือการทำรัฐประหารและปฏิวัติ เป็นต้น
วิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผลประโยชน์ต่างๆ จากการประยุกต์ใช้ของเทคโนโลยีดังกล่าว ล้วนเกิดจากคุณสมบัติพิเศษหลาย ๆ ประการของเทคโนโลยีกลุ่มนี้ อันสืบเนื่องจากการพัฒนาของ เทคโนโลยีที่มีอัตราสูงและอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีนี้ส่งผลให้ (1) ราคาของฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ รวมทั้งค่าบริการ สำหรับการเก็บ การประมวล และการแลกเปลี่ยนเผยแพร่สารสนเทศมีการลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว (2) ทำให้สามารถนำพาอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งคอมพิวเตอร์และ โทรคมนาคมติดตามตัวได้ เนื่องจากได้มีพัฒนาการการย่อส่วนของชิ้นส่วน (miniaturization) และพัฒนาการการสื่อสารระบบไร้สาย และ (3) ประการท้าย ที่จัดว่าสำคัญที่สุดก็ว่าได้คือ ทำให้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารมุ่งเข้าสู่จุดที่ใกล้เคียงกัน (converge)
ประเทศอุตสาหกรรมในโลกได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยียุทธศาสตร์กลุ่มนี้ จึงให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีนี้มากกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จัดเป็นเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์สำคัญอีกหลายกลุ่ม ดังเช่นกลุ่มประเทศ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ได้ศึกษาเปรียบเทียบ ศักยภาพของเทคโนโลยีไฮเทค 5 กลุ่มสำคัญในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุใหม่ เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ในประเด็นผลกระทบสำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่ (1) การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ (2) การปรับปรุงกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการ (3) การยอมรับจากสังคม (4) การนำไปใช้ประยุกต์ในภาค/สาขาอื่น ๆ และ (5) การสร้างงานในทศวรรษปี 1990 ปรากฏว่าเทคโนโลยีสารสนเทศได้รับการยอมรับในศักยภาพสูงสุดในทุก ๆ ประเด็น
ในสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน มีการศึกษาวิเคราะห์ถึงขีดความสามารถในเชิงแข่งขันเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ในเทคโนโลยีกลุ่มไฮเทคที่สำคัญต่อประเทศ 11 ชนิดด้วยกัน ปรากฏว่า 8 ชนิดจากทั้งหมด 11 ชนิด จัดเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งโดยตรงหรือเป็นส่วนประกอบ จะยกเว้นเพียง 3 ชนิดคือ เวชภัณฑ์ยา เครื่องบิน และวัสดุใหม่เท่านั้น
ประเทศเหล่านี้จึงมีแผนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างจริงจัง และได้ทุ่มงบประมาณมากมายมหาศาล เพื่อการพัฒนานี้ จึงเป็นที่คาดกันว่าวิวัฒนาการของ เทคโนโลยีสารสนเทศในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก
บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการพัฒนาประเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศจัดว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศของทุกประเทศก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะยังไม่มีบทบาทโดดเด่นในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการค้า ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการจัดให้บริการสังคมพื้นฐาน (การศึกษาและ การสาธารณสุข ฯลฯ) ในการบริหารประเทศ และในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
บทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศได้กลายเป็นอุตสาหกรรมผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีการประมาณการว่าตลาดโลกสำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ โทรคมนาคม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ จะมีขนาด 1,600 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1994 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 20 ต่อปี
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ได้ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจากการเป็นผู้ผลิตดังกล่าว แต่ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีดังที่กล่าวมา นานาประเทศ ต่างสามารถรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งสิ้น
บทบาทต่อการให้บริการของรัฐและในด้านการศึกษา
ในด้านการให้บริการจากรัฐแก่ประชาชน อาทิ บริการสาธารณสุข การศึกษา และฝึกอบรม ก็ได้มีตัวอย่าง ที่เห็นผลตอบแทนที่ไม่เป็นเพียงนามธรรม แต่เป็นรูปธรรม อย่างชัดเจนในหลาย ๆ ประเทศ
การศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์ถึงผลประโยชน์ของโทรคมนาคม โดยสมาพันธ์โทรคมนาคมโลก (ITU หรือ International Telecommunications Union) ชี้ให้เห็นถึงผลตอบแทนเทียบกับการลงทุนในอัตรากว่า 30 ต่อ 1 ในภาคบริการสาธารณสุข และกว่า 40 ต่อ 1 ในภาคเกษตรกรรม
ข้อสรุปในเบื้องต้นของโครงการ Civil Service Computerization Programme ของรัฐบาลสิงคโปร์ นอกจากจะก่อให้เกิดการให้บริการรัฐที่รวดเร็วคล่องตัว และสะดวกสบายแก่ประชาชนแล้ว ยังมีผลตอบแทนโดยตรง จากการลดค่าใช้จ่ายสืบเนื่องจากการใช้บุคลากรในภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในอัตรา 2.71 ต่อ 1 หน่วยการลงทุนต่อปี ทั้งนี้โดยยังไม่รวมถึงผลตอบแทนทางอ้อมอื่น ๆ อีกด้วย
การติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลท้องถิ่นนคร Pusan ในประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้เงินกู้จากธนาคารโลก ก็ได้นำไปสู่การเก็บรายได้เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 6 ต่อปี และลดภาระหนี้สินลงกว่ากึ่งหนึ่งในช่วงปี 1986 ถึง 1991 ในทำนองเดียวกัน โครงการเงินกู้โดยธนาคารโลกเพื่อสร้างระบบวิเคราะห์และจัดการด้วยคอมพิวเตอร์ ให้แก่กระทรวงรถไฟแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้นำไปสู่การเพิ่มผลิตผล การขนถ่ายสินค้า และผู้โดยสารถึงกว่าร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่าจากการลดความจำเป็น ในการลงทุนเพื่อก่อสร้าง ปรับปรุง และขยายบริการ ถึงกว่า 4 ถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงระหว่างปี 1983 ถึง 2000
ในประเทศสหรัฐฯ ผลงานศึกษาวิจัยหลาย ๆ ชิ้น ต่างชี้ถึงผลประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (เช่น CAI/CAL) ในการศึกษาฝึกอบรมว่าโดยเฉลี่ย จะสามารถลดค่าใช้จ่าย (ในประเทศสหรัฐฯ) ถึงกว่าร้อยละ 30 ขณะที่การเรียนรู้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 โดยใช้เวลาในการศึกษาลดลงถึงร้อยละ 40
ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถสรุปได้อย่างเด่นชัด จากผลการวิเคราะห์ของธนาคารโลกในโครงการทั้งสิ้นเกือบ 1,000 โครงการ ในปี 1986, 1989, 1990 และ 1991 โครงการเงินกู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากโทรคมนาคมของธนาคารโลก ได้เพิ่มในอัตราสูงจาก 379 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1986 เป็น 890 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1991 หรือสูงเป็นร้อยละ 235 ของปี 1986 เทียบเท่ากับ 6 เท่าของอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 39 ของเงินกู้ทั้งหมดในช่วงเดียวกัน
โดยสรุป ด้วยบทบาทอันสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในนานาประเทศดังกล่าว การลงทุนใน เทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีสัดส่วนสูง เมื่อเทียบกับการลงทุนด้านอื่น ๆ เป็นต้นว่าในกลุ่มประเทศ OECD การลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีสัดส่วนเหนือการลงทุนของสินค้าทุนด้านอื่น ๆ รวมกันระหว่างปี 1983 ถึง 1990 กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 11 ประเทศดังกล่าวข้างต้นมีอัตราการเพิ่มในการลงทุนด้านนี้ต่อปีในอัตราสูง ตั้งแต่ร้อยละ 10.77 ในประเทศมาเลเซีย ถึงร้อยละ 25.0 ในประเทศไทย
ผลกระทบต่อวัฒนธรรมและสังคม
เทคโนโลยีสารสนเทศจะมีผลกระทบต่อสังคมมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะเลือกใช้มันอย่างไร ใน โลกปัจจุบันแรงผลักดันทางเศรษฐกิจมักจะมีบทบาทสูง ในการกำหนดทิศทางของเทคโนโลยี เป็นที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีการสื่อสารทั้งในอดีตและปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมของธุรกิจบันเทิงไปอย่างมาก ในอนาคตธุรกิจ บันเทิงนี้แหละจะเป็นตัวทำเงินให้แก่ผู้ประกอบการทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคม บังเอิญธุรกิจบันเทิงเป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลอย่างสูงกับแนวความคิด ความอ่านของผู้คนในสังคม เพราะเป็นวิถีทางหนึ่งที่ผู้ร่วมบันเทิงได้รับอิทธิพลทางความคิดจากผู้อื่นที่ร่วมอยู่ในวงบันเทิง และยอมรับสถานภาพว่า ตนก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ การถ่ายทอดแนวความคิดระหว่างบุคคลในสังคมนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกว่าวัฒนธรรม
ในอดีตก่อนที่จะมีวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ผู้คนในสังคมที่ต้องการพักผ่อนหย่อนใจ หรือร่วมในวงบันเทิงก็จะร่วมอยู่ในวงการบันเทิงนั้น ๆ โดยตรง แต่ละวงก็จะเป็นวงเล็ก ๆ ผู้แสดงกับผู้ดูจะเห็นหน้ากัน ในบางครั้ง (เช่น ในวงดนตรีหรือวงฟ้อนรำ หรือในงานทำบุญต่างๆ เช่น งานบุญบั้งไฟในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ก็อาจจะแยกไม่ได้ว่าใครเป็นคนแสดง ใครเป็นคนดูหรือคนฟัง ต่อมาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แรก ๆ จากเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เอื้ออำนวยให้ผู้แสดง สามารถแสดงให้ผู้ฟังหรือผู้ดูได้ทีละเป็นจำนวนมาก ๆ ความใกล้ชิดซึ่งเคยมีระหว่างผู้แสดงและผู้ดูก็ค่อย ๆ หายไป อีกประการหนึ่ง ขีดจำกัดสำคัญของเทคโนโลยีการกระจายคลื่นวิทยุโทรทัศน์ในอดีต 
ประเทศไทยกับการก้าวสู่สังคมสารสนเทศ
ในปัจจุบันประเทศไทยได้ตระหนักถึงศักยภาพอันมหาศาลของเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังจะเห็นได้ว่ามี การพัฒนาเครือข่ายและบริการโทรคมนาคมอย่างจริงจัง ซึ่งเปรียบเสมือนทางหลวงสำหรับการขนถ่ายแลกเปลี่ยนสารสนเทศ อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะขาดแคลนหรือล้าสมัยมิได้ โครงการหลาย ๆ โครงการที่มีมูลค่ารวมกัน เป็นแสนๆ ล้านบาท จึงได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นในที่สุด อาทิ โครงการขยายเครือข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย โครงการดาวเทียมสื่อสารไทยคมดวงที่ 1 และ 2 โครงการเครือข่ายบริการร่วมระบบดิจิตอล (ISDN) โครงการเส้นใยแก้วนำแสงตามทางรถไฟทั่วประเทศ โครงการเส้นใยแก้วนำแสงใต้น้ำหลายโครงการ ที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศอาเซียน เชื่อมโยงกับฮ่องกงผ่านเวียดนาม และเชื่อมโยงกับประเทศยุโรปผ่านประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น รวมถึงการเปิดโอกาส ให้ภาคเอกชนมีส่วนในการพัฒนาในบางโครงการ
บทสรุปและคำถามทางนโยบาย
หนึ่ง ภายใต้สภาวะของการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ทุกๆ ประเทศและทุกๆ สังคม ไม่ว่ามั่งมีหรือยากจน กำลังย่างก้าวสู่สังคมสารสนเทศ ด้วยกันทั้งสิ้น ต่างกันเพียงแต่จะเร็วหรือช้ากว่ากันเท่านั้น บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเพิ่มเป็นเงาตามตัว ในฐานะปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งต่อการพัฒนาสังคมและ เศรษฐกิจโลก การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มผลผลิตในเชิงเศรษฐศาสตร์ ด้วยการยกระดับผลิตภาพและประสิทธิภาพของการผลิต และการยกระดับ คุณภาพของสินค้าและบริการที่สังคมจะได้ ทั้งในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และภาครัฐแล้ว เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถทำให้เกิดสินค้าและบริการชนิดใหม่ ๆ ขึ้นอย่างมากมาย สามารถสร้างศักยภาพใหม่ในการจ้างงานและเพิ่มสีสันและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อสังคมในวงกว้างได้อย่างแน่นอนในอนาคต
สอง แต่การใช้เทคโนโลยีนี้โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจและความระมัดระวัง หรือยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ จะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และนำไปสู่คุณภาพชีวิตในทางลบได้ โดยเฉพาะจากธรรมชาติหรือศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่เสมือนจะแย้งกันเอง นโยบายในการจัดการ กับเทคโนโลยีนี้ จึงมีความสำคัญเป็นทวีคูณต่อทางเลือกที่จะนำไปสู่การเพิ่มคุณและลดโทษต่าง ๆ อันจะพึงมีได้
สาม ด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในอัตราสูงสุดในประวัติศาสตร์โลก ที่ยังดูเสมือนไม่หยุดหย่อน แต่กลับทวีความรุนแรงขึ้น นโยบายด้านเทคโนโลยี สารสนเทศจึงเต็มไปด้วยความซับซ้อน ยากลำบาก และสามารถที่จะ ล้าสมัยได้โดยง่าย การกำหนดนโยบายจึงมีความจำเป็นยิ่ง ที่จะต้องเป็นรูปแบบที่มีความคล่องตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายและกฎหมายบริการโทรคมนาคมที่ยังรอการตัดสินใจในขณะนี้ จักต้องมีลักษณะคล่องตัวต่อการแก้ไขในอนาคต อีกทั้งผู้ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายจักต้องติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในโลกอย่างใกล้ชิดที่สุด
สี่ ท้ายสุดนี้ ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ในการก้าวสู่สังคมสารสนเทศอย่างไร เราเตรียมพร้อมในการพัฒนาสมรรถภาพทางเทคโนโลยีและการจัดการเพียงไร เพื่อจะมิต้องตกเป็นทาสทางเทคโนโลยีของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมากยิ่ง ๆ ขึ้น เราได้ฉกฉวยโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ เช่น การขยายเครือข่ายโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์ในการสร้างสมรรถนะทางเทคโนโลยีของประเทศหรือไม่ เราได้มีการเร่งรัดพัฒนาบุคลากรด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสารสนเทศหรือยัง ระบบราชการและการปกครองจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร ประชาชนได้รับการศึกษาและความรู้เพียงพอหรือไม่ ในการก้าวสู่ยุคใหม่นี้ เหล่านี้คือคำถามทางนโยบายและการปฏิบัติที่ยังรอคำตอบอยู่




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น